วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

ศาสนา

หักไม้หมิ่นบักเขือ พายเรือน้ำข้าวหม่า
ศาสนาส้วย งัวควายบ่ได้ปล่อย


เด็กน้อยบ่ได้เลี้ยงคนเฒ่านั่งแนม...

...ศาสนาส้วย ดินสิกวยคืออู่

ความบักตู้เขาสั้นบ่ยาว

ผู้สาวเดินหาผัว

เจ้าหัวเดินหาเงินจั่งสิมีมาใช้...
ศาสนาบ่อได้ส่วย งัวควยยังคือเก่า มีแต่คนนั้นหล่ะเจ้า ที่พาส่วยอ่วยลง


มีแต่ปงวางถิ่ม ลืมลาป๋าจาก องค์พระภาคกล่าวต้าน นานล้ำล่วงเถิง

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กิจกรรมวันเข้าพรรษาจร้า

                                                                     รวมพระรวมเณรครับ

                                                                    คุณแม่ยังสาวคร้า

                                                          จำนวนคนจำพรรษาปีนี้คับ

                           ิิิิิิิิิิิิิิิิ                                        เยอะเกินไปไหมเนี่ย

                                                                   หลวงพี่บวชใหม่คับ


                                                                       หล่อตายแหละ


                                                                     ช่วงทำวัตรเย็นคับ


                                                                  ตั้งใจนั่งสมาธิกันมาก



                                                 เออ...คุณแม่นั่งสมาธิหรือว่านั่งหลับคับนั้น


                                                        โอ้ว...อีตาแกเคร่งน่าดูนะ


                                                                       เวียนเทียนจร้า


                                                                     นั่งสมาธิในโบสถ์


                                             ลูกเณรตั้งใจมาก...แต่เอ๊รู้สึกภาพนี้มันแปลก ๆ นะ


                                                       มุมนี้เห็นพระประธานในโบสถ์คับ


                             อันสุดท้ายนี้ก็อบรมพระเณร โดยท่านเจ้าอาวาส พระครูถาวรธรรมสันติคับ

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ธรรมะของพ่อแม่ ที่มีต่อลูก

ในยามปกติ ก็มีความรักความเมตตา
ในยามลำบาก ก็มีความเห็นใจ
ในยามสำเร็จ ก็ยกย่องให้
ในยามพลาดพลั้งไป ก็ไม่ซ้ำเติม

วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ทางเจ็ดสาย ของจิต

ทางไปนรก ได้แก่โทสะ
ทางไปเปรต อสุรกาย ได้แก่โลภะ
ทางไปสัตว์ เดรัจฉาน ได้แก่โมหะ
ทางไปมนุษย์ ได้แก่ ศีลห้า (กุศลกรรม)
ทางไปสวรรค์ ได้แก่มหากุศล ๘
ทางไปพรหมโลก ได้แก่สมถกรรมฐาน
ทางไปนิพพาน ได้แก่วิปัสสนากรรมฐาน

วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อย่า อย่า อย่า

อย่านอนตื่นสาย
อย่าอายทำกิน
อย่าหมิ่นเงินน้อย
อย่าคอยแต่วาสนา
อย่าเสวนากับคนชั่ว
อย่ามั่วอบายมุข
อย่าชิงสุกก่อนห่าม
อย่าพล่ามก่อนทำ
อย่ารำก่อนเพลง
อย่าข่มเหงผู้น้อย
อย่าคอยแต่ประจบ
อย่าคบแต่เศรษฐี
อย่าเอาดีใส่ตัว แล้วเอาชั่วใส่คนอื่น
อย่าฝืนระเบียบ เพื่อเอาเปรียบสังคม

ศีล ๕ จะคุ้มครองโลกอย่างไร

ศีลข้อ ๑ จะคุ้มครองคนและสัตว์
ศีลข้อ ๒ จะคุ้มครองทรัพย์สิน
ศีลข้อ ๓ จะคุ้มรองครอบครัว
ศีลข้อ ๔ จะคุ้มครองสังคม
ศีลข้อ ๕ จะคุมครองสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้ปราศจากโรคภัย

จน หนี หนี้

จน จน จน  อย่าให้จนปัญญา
หนี หนี หนี  ขอให้หนีความชั่ว
หนี้ หนี้ หนี้ อย่าติดหนี้คนอื่น

คน

คนทุกคน ใช้พ้น คนหรอกหรือ
คนก็คือ เป็นคน ที่ตนเห็น
รวยก็ตาย จนก็ตาย ทุกประเด็น
อย่าทำเป็น เหนือคน ล้นเกินใคร
คนเห็นคน เป็นคน นั้นแหละคน
คนเห็นคน ไม่ใช่คน ใช่คนไม่
คนทุกคน เป็นคน ทุกคนไป
คนนั้นไซร้ วายชนม์ ทุกคนเอย

จงกล้าบ้าง อย่ากล้าบ้าง

เกิดเป็นคน จงกล้าพูด กล้าทำ กล้านำ กล้าแสดงออก กล้าตาย แต่อย่ากล้าแบบบ้าบิ่น

ปริศนาธรรม

มีเมียมีผัว ตีหัวให้แตก
มีวัวมีควาย ใช้ให้แหลก
มีแขก อย่าให้เข้าบ้าน

อธิบาย.... มีเมียมีผัว ตีหัวให้แตก หมายความว่า ต้องรู้จักใช้สติปัญญา เวหาจะหาคู่ครอง ต้องคิดให้ดีว่า จะเลี้ยงกันไหวไหม จะเข้าใจกันได้ไหม จะร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันได้ไหม
มีวัวมีควาย ใช้ให้แหลก หมายความว่า เกิดมาเป็นคน เรามีแขนมีขา ก็ต้องทำงานให้เต็มที่
มีแขก อย่าให้เข้าบ้าน หมายความว่า แขก ก็คือ ของไม่ดี เป็นต้นว่าความอิจฉาริษยา อย่าให้เข้ามาในจิตใจของเรา หรือมาวุ่นวาย ว้าวุ่นในสมองของเรา

เกิดมาแล้ว ทำไมต้องเป็นเช่นนี้

เกิดมาแล้วยากจน เพราะเป็นคนตระหนี่
เกิดมาแล้วอยู่ในตระกูลที่ไม่ดี เพราะขี้อิจฉา ริษยา
เกิดมาแล้วไม่หล่อ ไม่สวย เพราะเป็นคนขี้โกรธ ขี้หงุดหงิด
เกิดมาแล้วไม่มีมิตร เพระไม่รู้จักสงเคราะห์ให้ทาน
เกิดมาแล้วมีโรคมาก เพราะชอบเบียดเบียนสัตว์
เกิดมาแล้วอายุสั้น เพราะฆ่าสัตว์ผู้มีคุณ
เกิดมาแล้วโง่ เพราะชอบดูถูกครูอาจารย์
เกิดมาแล้วทรัพย์อันตรธาน ก็เพรราะชอบขโมย
ดังนั้น การเกิดมาแล้วจะเป็น หรือจะไปก็แล้วแต่ผู้ชักนำ นั้นก็คือกรรมของเรา เมื่อเราทำกรรมใดไว้ ก็ย่อมที่จะได้รับผลแห่งกรรมนั้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ธรรมะของสามีมี ๕

๑. ยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา
๒. ไม่ดูหมิ่นภรรยา
๓. ไม่นอกใจ
๔. มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้ภรรยา
๕. ให้เครื่องประดับ

สามีดีมี ๕ ท่านว่าไว้
หนึ่ง เอาใจยกย่องประคองขวัญ
สอง ไม่ดูถูภรรยาให้จาบัลย์
สาม ผูกพันไม่นอกใจจนวายวาง
สี่ มอบความเป็นใหญ่ภายในบ้าน
ห้า มอบเครื่องประดับสำหรับร่าง
สมบัติห้านี้ มีครบไม่จบจาง เช่นเยี่ยงอย่างยอดสามี ดีนักเอย

ค่าของความรัก

ความรักอย่างแม่  มีค่าเสมอตา
ความรักอย่างน้อง  มีค่าเสมอจมูก
ความรักอย่างเพื่อน  มีค่าเสมอปากและคอ

วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประชาชนจะตอบแทนแผ่นดินเกิดได้อย่างไร?

๑. ถ้าเป็นนักศึกษา  ก็ต้องตั้งใจศึกษาให้ดีที่สุด
๒. ถ้าเป็นพ่อแม่  ก็ตั้งใจเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด
๓. ถ้าเป็นครู อาจารย์  ก็ต้องตั้งใจสอนลูกศิษย์ให้ดีทึ่สุด
๔. ถ้าเป็นข้าราชการ  ก็ต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด
๕. ถ้าเป็นหมอพยาบาล  ก็ต้องตั้งใจรักษาคนป่วยให้ดีที่สุด
๖. ถ้าเป็นแม่ทัพนายกอง  ก็ต้องตั้งใจป้องกันขอบขันธสีมาให้ดีที่สุด
๗. ถ้าเป็นพระสงฆ์บวชใหม่ ก็ต้องตั้งใจศึกษา   แม้บวชเก่าก็ต้องตั้งใจสอนประชาชน ลดอบายมุข
๘. ถ้าเป็นนักเขียนข่าว ก็ต้องตั้งใจเขียนข่าวอย่างมีความรับผิดชอบและสร้างสรร  ตรงไปตรงมา
๙. ถ้าเป็นนักข่าว ก็ต้องตั้งใจเสนอข่าวสารอย่างสร้างสรร เพื่อจรรโลงชาติ ศาสนา สถาบัน
๑๐. เลิกขายยาเสพย์ติด  เพื่อทำลายคนไทยด้วยกัน
๑๑. เลิกทำลายป่า  เพราะจะเกิดมลพิษ
๑๒. เลิกขายสิทธิ เลิกซื้อเสียง เพราะจะได้คนที่ไม่มีคุณภาพมาพัฒนาชาติ
๑๓. ยึดในหน้าที่ที่ตนมีอย่างไร ทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด
แม้นักกีฬา  นักร้อง  นักบวช  นักการเมือง  นักบวช นักข่าว ทุกคนก็สามารถตอบแทนแผ่นดินได้

ยอดทั้ง ๖

ยอดของโรคคือ  ความหิว
ยอดของลาภคือ ความไม่มีโรค
ยอดของทรัพย์คือ ความสันโดษ
ยอดของญาติคือ ความคุ้นเคย
ยอดของของทุกข์คือ สังขาร
ยอดของสุขคือ นิพพาน

หลักการลดปัญหาความขาดแคลนและความแตกแยก

- พัฒนาความเป็นอยู่ของเราให้ง่ายขึ้นอย่าให้ยุ่งยากนัก
- พัฒนาความเป็นอยู่ให้เรียบ ๆ อย่าหรูหรานัก
- พัฒนาความเป็นอยู่ให้เหมาะสมกับฐานะ
- พัฒนาใจให้ยึดความจริงเป็นหลัก

หลักของคน

เกิดเป็นคนต้องมี
1. หลักแหล่ง  มีที่อยู่ที่สมควร
2. หลักฐาน  มีฐานะที่เหมาะสม
3. หลักธรรม มีจิตใจที่ดีงาม

สร้างพระพุทธรูปเพื่ออะไร ?

ไหว้พระ กราบพระ ครั้งใด
ทำใจ ให้ถูก ด้วยหนา
กราบพระ กราบด้วย ปัญญา
ใช่ว่า กราบด้วย งมงาย
  เวลากราบพระพุทธรูปเคยสงสัยไหมว่า เค้าสร้างไว้เพื่ออะไร ไว้เพื่อกราบ เพื่อไหว้ เพื่อบูชาอย่างเดียวหรือ?

   มีนักปราญช์ผู้รู้ได้ให้คำตอบไว้ว่า... พระพุทธรูปที่เรากราบไหว้บูชากันอยู่ประจำนั้น เค้าสร้างเอาไว้เพื่อ
       1. เป็นเครื่องระลึกถึง คือ เมื่อเรานับถือพระ เข้าถึงพระ ก็ควรที่จะระลึกถึงพระด้วย พระในที่นี้ก็คือพระพุทธเจ้า ด้วยการเว้นจากทุจริตทั้งปวง กระทำแต่ความดี ปฏิบัติตามคำสอน ถ้าทำได้เช่นนี้ก็ชื่อว่ามีพระ ก็ได้ระลึกนึกถึงแล้ว
       2. เป็นเครื่องเตือนสติ คือ เป็นเครื่องเตือนตัวเองไม่ให้หลง ไม่ให้มัวเมา เพราะเราทุกคนทุกท่านที่เกิดมา เราไม่รู้ว่าจะตายวันไหน ดังนั้นต้องรีบสร้างความดี ไม่ปล่อยเวลาให้สูญเปล่าเหมือนกลอนที่ว่า
       กาลเวลา นาที มีค่าล้น
อย่าวกวน มัวเล่น ไม่เห็นค่า
การงานใด ให้รีบทำ ตามเวลา
อย่างผลาญพล่า เวลา แม้นาที
   3. เป็นเครื่องยับยั้ง คือยับยั้งไม่ให้ประมาท เพราะคนที่ประมาทมักจะพบกับความตาย บางคนแขวนพระไว้หน้ารถ แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุถึงกับความตายก็มี เพราะไม่เคยมองพระที่แขวนไว้ว่าเป็นเครื่องยับยั้ง มีแต่มองว่าเป็นเครื่องลางของขลังเสียมากกว่า
      ดังนั้นพระพุทธรูปเค้าสร้างขึ้นมา จะเป็นองค์พระ หรือพระแขวนที่เราบูชากราบไหว้อยู่ประจำก็ดี ท่านทำขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องทั้งสามอย่างนี้ และหากเราพุทธศาสนิกชนที่นับถือพระ ก็ขอให้มีพระ มีสติ และรู้จักยับยั้งช่างใจไว้บ้าง เพราะอย่างน้อยพระที่เราบูชาท่านก็จะช่วยเรายามที่เราประสบกับความทุกข์ได้  

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บ ๕ ดี

บริเวณ  ตรวจที่อยู่อาศัย
บริวาร   ตรวจดูลูกน้อง
บริขาร   ตรวจดูสิ่งของ
บริการ   ต้อนรับผู้มาเยี่ยม
บริกรรม ทำกิจวัตรดี

เทศน์งานฌาปนกิจ คุณแม่บุญทิตย์ สุวรรณสิงห์ 26 กุมภาพันธ์ 2554 ณ เมรุวัดวิเวกธรรมคุณ

ยังกิญจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมนฺติ

            ขอเจริญพรญาติโยมสาธุชนพุทธบริษัททุกท่าน ณ โอกาสต่อจากนี้ไปพอประมาณ ญาติโยมสาธุชนจะได้รับฟังธรรมสังเวช ปรารภเหตุของการวายชน เนื่องจากว่าในวันนี้ ท่านเจ้าภาพ พร้อมด้วยบุตรธิดาและลูกหลาน ตลอดจนญาติสนิทมิตรสหาย ได้มาร่วมกันฌาปนกิจ เพื่ออุทิศคุณงามความดีอันนี้ส่งไปให้แก่ดวงวิญญาณ( ชื่อผู้วายชน) การจากไปของคุณแม่ในครั้งนี้ก็ได้สร้างความเศร้าโศกเสียใจท่านเจ้าภาพและลูกหลานที่อยู่เบื้องหลัง เพราะการจากไปของคุณแม่ในครั้งนี้ เป็นการจากไปอย่างที่ไม่มีวันที่จะหวนกลับ
            มีนักปราชญ์ท่านเคยกล่าวเอาไว้ว่า คนเราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ เราหนีไม่พ้นความแก่ ความเจ็บ และความตาย ซึ่งเป็นสัจจธรรมที่แท้จริงของชีวิต ดังมีคำกลอนบทหนึ่งที่ท่านกล่าวเอาไว้ว่า
อนิจจา วัตตสังขารา
คนเราเกิดมา นั้นไม่เที่ยงแท้
คืนวันผันผ่าน เวียนผันเปลี่ยนแปร
สุดท้ายแน่ ๆ ต้องสิ้นลมปราณ
            ดังนั้นเราจะเกิดเป็นหญิง เป็นชาย เป็นคนรวย เป็นคนจน หรือจะเป็นคนชาติไหน ๆ สุดท้ายเราก็ไม่อาจหนีจากเงื้อมือของพญามัจจุราชไปได้พ้น
            แต่อย่างไรก็ดีเมื่อพูดถึงผู้วายชน คือคุณแม่(ฯญ) ที่ท่านจากพวกเราไปในวันนี้ อาตมาถือว่าท่านเป็นแม่ที่แท้จริง คือเป็นแม่ที่แท้จริงอยู่ 2 แบบ
1.                                     ท่านเป็นแม่ที่ดีของพระ กล่าวคือ คุณแม่ครั้นเมื่อท่านมีชีวิตอยู่ ท่านจะชอบมาช่วยเหลือวัดตลอด ไม่ว่าจะกิจการงานใด ที่เกี่ยวกับวัดกับวาโดยเฉพาะวัดวิเวกธรรมคุณแล้ว ท่านจะมาช่วยไม่เขยขาด และที่สำคัญคุณแม่มักจะเป็นเจ้าภาพอุปสมบทพระอยู่เสมอ เมื่อมีโอกาสท่านกับคุณพ่อก็จะขอปวารณาเป็นเจ้าภาพ ดังนั้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็มีพระอยู่หลายรูปที่ท่านได้ยกบวชบวชให้ แต่ในวันนี้คงไม่ได้เห็นคุณแม่มาร่วมทำกิจกรรม มาร่วมทำบุญที่วัดเหมือนในอดีตอีกแล้ว คงเหลือเพียงแต่ความทรงจำ และคุณความดีทั้งหลายที่คุณแม่ได้สร้างเอาไว้ เป็นเป็นเครื่องเตือนใจให้กับลูกหลานที่เป็นพระภิกษุสามเณรที่อยู่รุ่นหลัง ดังนั้นท่านจึงเป็นแม่ที่ดีของพระเช่นนี้
2.                  ท่านเป็นแม่ที่ไม่ละหน้าที่ต่อลูก คือท่านเป็นแม่ที่ดีของลูกเลี้ยงลูกให้ได้ดับได้ดี ท่านเลี้ยงลูกให้มีการศึกษา เลี้ยงลูกให้อยู่ดีกินดีทุกคน ดังนั้นกว่าที่เราจะมีวันนี้ได้ ก็เพราะใคร เพราะคุณแม่ใช่หรือไม่ ที่ท่านต้องสู้กับความทุกข์ยาก เพื่อที่จะให้ลูกได้อิ่ม เพราะคุณแม่ใช่หรือไม่ ที่ท่านต้องสู้กับความลำบาก เพื่อที่จะให้ลูกได้หลับ เพราะคุณแม่ใช่หรือไม่ ที่ท่านต้องสู้กับอุปสรรค เพื่อให้ลูกได้อยู่สบาย น้ำนมทุกหยดที่แม่ให้ดื่ม ข้าวทุกคำที่แม่ป้อน ทุกคำสอนของท่าน ล้วนมาจากความรักของคุณแม่ที่มีต่อลูกทุกคน
อันรักใดไหนอื่นมีหมื่นแสน 
ไม่เหมือนแม้นแม่รักสมัครหมาย 
รักของแม่คงมั่นตราบวันตาย 
หญิงหรือชายรักเจ้าเท่าดวงมาลย์ 
ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่กรองกลั่น 
เลือดแม่นั้นเลี้ยงหล่อก่อสังขาร 
กว่าจะเป็นตัวตนต้องทนทาน 
ครั้นถึงกาลคลอดเจ้าร้าวระบม 
แม่เจ็บปวดเวียนว่ายชีวาสิ้น 
หรือถวิลคิดใดให้ขื่นขม 
หวังเพียงลูกปลอดภัยได้ชื่นชม 
ก็สุขสมใจแม่อย่างแท้จริง 
ตั้งแต่น้อยจนใหญ่ใครกันเล่า 
ที่ป้อนข้าวป้อนน้ำทำทุกสิ่ง 
จะหนักเบาเจ้าถ่ายไม่ประวิง 
ไม่ทอดทิ้งกอดกกยามตกใจ 
ขวัญเอ๋ยขวัญมาอยู่มาสู่เจ้า 
แม่คอยเฝ้าชูช่วยยามป่วยไข้ 
ยามลูกนอนสายเปลแม่เห่ไกว 
แม้นริ้นไรจะขบกัดแม่พัดวี 
แม่ยอมอดให้ลูกอิ่มก็ยิ้มชื่น 
ทุกวันคืนหวังให้ลูกอยู่สุขศรี 
พระคุณแม่ยิ่งกว่าฟ้าปฐพี 
ชีวิตนี้เกิดมาควรแทนคุณ

วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วันมาฆบูชา


วันมาฆะบูชา

 article

ความหมาย
วันมาฆบูชาหมายถึง การบูชา ในวันเพ็ญเดือน ๓ เนื่องในโอกาสคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์
ความสำคัญ
วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ มีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูปมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกันพระสงฆ์ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา ๖และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า ในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการอุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติที่ นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหา โดยสรุปคือให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี ให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่องใส
ประวัติความเป็นมา
๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๙ เดือนขณะนั้นเมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะหรือเดือน ๓ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า มาประชุม พร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ คือ
๑. วันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓
๒. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้ นัดหมาย
๓. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖
๔. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นผู้ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจาก พระพุทธเจ้าเพราะเหตุที่มีองค์ประกอบสำคัญดังกล่าว จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต และในโอกาสนี้พระพุทธเจ้า ได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการประกาศหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติทางพระพุทธ-ศาสนา
๒. การถือปฏิบัติวันมาฆบูชาในประเทศไทยพิธีวันมาฆบูชานี้ เดิมทีเดียวในประเทศไทยไม่เคยทำมาก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ว่าเกิดขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยทรงถือตามแบบของโบราณบัณฑิตที่ได้นิยมกันว่า วันมาฆะบูรณมี พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์เป็นวันที่พระอรหันต์สาวกของ พระพุทธเจ้า ๑,๒๕๐ รูป ได้ประชุมกันพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาตพระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เป็นการประชุมใหญ่ และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์จึงถือเอาเหตุนั้นประกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวก ๑,๒๕๐ รูปนั้น ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสการประกอบพิธีมาฆะบูชา ได้เริ่มในพระบรมมหาราชวังก่อนในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีพิธีการพระราชกุศลในเวลาเช้า พระสงฆ์ วัดบวรนิเวศวิหารและวัดราชประดิษฐ์ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำ เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่อง มนัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว สวดมนต์ต่อไปมี สวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนา โอวาทปาติโมกข์ ๑ กัณฑ์เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย เครื่องกัณฑ์ มีจีวรเนื้อดี ๑ ผืน เงิน ๓ ตำลึง และขนมต่าง ๆ เทศนาจบพระสงฆ์ ซึ่งสวดมนต์ ๓๐ รูป สวดรับการประกอบพระราชกุศลเกี่ยวกับวันมาฆบูชาในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปีมิได้ขาด สมัยต่อมามีการเว้นบ้าง เช่น รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกเองบ้าง มิได้ เสด็จออกเองบ้างเพราะมักเป็นเวลาที่ประสบกับเวลาเสด็จประพาส หัวเมืองบ่อย ๆ หากถูกคราวเสด็จไปประพาสบางปะอินหรือพระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชา ในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีก ส่วนหนึ่งต่างหากจากในพระบรมมหาราชวังเดิมทีมีการประกอบพิธีในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาก็ขยายออกไป ให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติตามอย่างเป็นระบบสืบมาจนปัจจุบันมีการบูชา ด้วยการเวียนเทียน และบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ส่วนกำหนดวันประกอบพิธีมาฆบูชานั้น ปกติตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ หากปีใดเป็นอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหนจะเลื่อนไปตรงกับวันเพ็ญเดือน ๔ หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติหลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติได้แก่ โอวาทปาติโมกข์ หมายถึงหลักคำสอนคำสำคัญของพระพุทธศาสนาอันเป็นไปเพื่อป้องกัน และแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น หรือคำสอน อันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ วิธีการ ๖ ดังนี้ หลักการ ๓
๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่การงดเว้น การลดละเลิก ทำบาปทั้งปวง ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางแห่งความชั่ว มีสิบประการ อันเป็นความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจความชั่วทางกาย ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติ ผิดในกามความชั่วทางวาจา ได้แก่ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียดการพูดเพ้อเจ้อ ความชั่วทางใจ ได้แก่ การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
๒. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่างซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นแบบของการทำฝ่ายดีมี ๑๐ อย่าง อันเป็นความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจความดีทางกาย ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นมีแต่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการไม่ประพฤติผิดในกามการทำความดีทางวาจา ได้แก่ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อพูดแต่คำจริง พูดคำอ่อนหวานพูดคำให้เกิดความสามัคคีและพูดถูกกาลเทศะการทำความดีทางใจ ได้แก่ การไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่นมีแต่คิดเสียสละการไม่ผูกอาฆาตพยาบาทมีแต่คิดเมตตาและปรารถนาดีและมีความเห็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
๓. การทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึง
ความสงบ มี ๕ ประการ ได้แก่
๑. ความพอใจในกาม (กามฉันทะ)
๒. ความอาฆาตพยาบาท (พยาบาท)
๓. ความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน (ถีนะมิทธะ)
๔. ความฟุ้งซ่าน รำคาญ (อุทธัจจะกุกกุจจะ) และ
๕. ความลังเลสงสัย (วิกิจฉา) เช่น สงสัยในการทำความดีความชั่ว ว่ามีผลจริงหรือไม่
วิธีการทำจิตให้ผ่องใส ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการละบาปทั้งปวงด้วยการถือศืลและบำเพ็ญกุศล ให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา จนได้บรรลุอรหัตผล อันเป็นความผ่องใสที่แท้จริงอุดมการณ์ ๔
๑. ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา ใจ
๒. ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้าย รบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
๓. ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
๔. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด
ในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จาการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ ๘
วิธีการ ๖
๑. ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร
๒. ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
๓. สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎกติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม
๔. รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหารหรือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
๕. อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
๖. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ ฝึกหัดชำระจิตให้สงบมีสุขภาพคุณภาพ และประสิทธิภาพที่ดี
ข้อมูลจาก  : หนังสือวันสำคัญโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยฯ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ





วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

อภัยทาน

อภัยทาน ก็คือการยกโทษให้ คือการไม่ถือความผิด หรือการล่วงเกินกระทบกระทั่งว่าเป็นโทษ

อภัยทานนี้เป็นคุณแก่ผู้ให้ ยิ่งกว่าแก่ผู้รับ เช่นเดียวกับทานทั้งหลายเหมือนกัน คืออภัยทานหรือการให้อภัยนี้ เมื่อเกิดขึ้นในใจผู้ใด จะยังจิตใจของผู้นั้นให้ผ่องใสพ้นจากการกลุ้มรุมบดบังของโทสะ

อันใจที่แจ่มใส กับใจที่มืดมัว ไม่อธิบายก็น่าจะทราบกันอยู่ทุกคนว่าใจแบบไหนที่ยังความสุขให้เกิดขึ้นแก่เจ้าของ ใจแบบไหนที่ยังความทุกข์ให้เกิดขึ้น และใจแบบไหนที่เป็นที่ต้องการ ใจแบบไหนที่ไม่เป็นที่ต้องการเลย

ความจริงนั้น ทุกคนที่สนใจบริหารจิต จะต้องสนใจอบรมจิตให้รู้จักอภัยในความผิดทั้งปวง ไม่ว่าผู้ใดจะทำแก่ตน แม้การให้อภัยจะเป็นการทำได้ไม่ง่ายนัก สำหรับบางคนที่ไม่เคยอบรมมาก่อน แต่ก็สามารถจะทำได้ด้วยการอบรมไปทีละเล็กละน้อย เริ่มแต่ที่ไม่ต้องฝืนใจมากนักไปก่อนในระยะแรก

ตัวอย่างเช่น เวลาขึ้นรถประจำทางที่มีผู้โดยสารคอยขึ้นรถอยู่เป็นจำนวนมาก หากจะมีผู้เบียดแย่งขึ้นหน้า ทั้งๆ ที่ยืนอยู่ข้างหลัง ถ้าเกิดโกรธขึ้นมาไม่ว่าน้อยหรือมาก ก็ให้ถือเป็นโอกาสอบรมจิตใจให้รู้จักอภัยให้เขาเสีย

เพราะเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรถือโกรธกันหนักหนา เป็นเรื่องเล็กน้อยเหลือเกินควรจะอภัยให้กันได้ แต่บางที่ไม่ตั้งใจคิดเอาไว้ก็จะไม่ทันให้อภัยจะเป็นเพียงโกรธแล้วจะหายโกรธไปเอง

โกรธแล้วหายโกรธเอง กับโกรธแล้วหายโกรธเพราะให้อภัย ไม่เหมือนกัน โกรธแล้วหายโกรธเองเป็นเรื่องธรรมดา ทุกสิ่งเมื่อเกิดแล้วต้องดับ ไม่เป็นการบริหารจิตแต่อย่างใด แต่โกรธแล้วหายโกรธเพราะคิดให้อภัย เป็นการบริหารจิตโดยตรง จะเป็นการยกระดับของจิตให้สูงขึ้น ดีขึ้น มีค่าขึ้น

ผู้ดูแลเห็นความสำคัญของจิต จึงควรมีสติทำความเพียรอบรมจิตให้คุ้นเคยต่อการให้อภัยไว้เสมอ เมื่อเกิดโทสะขึ้นในผู้ใดเพราะการปฏิบัติล้วงล้ำก้ำเกินเพียงใดก็ตาม พยายามมีสติพิจารณาหาทางให้อภัยทานเกิดขึ้นในใจให้ได้ ก่อนที่ความโกรธจะดับไปเสียเองก่อน

ทำได้เช่นนี้จะเป็นคุณแก่ตนเองมากมายนัก ไม่เพียงแต่จะทำให้มีโทสะลดน้อยลงเท่านั้น และเมื่อปล่อยให้ความโกรธดับไปเอง ก็มักหาดับไปหมดสิ้นไม่ เถ้าถ่านคือความผูกโกรธมักจะยังเหลืออยู่ และอาจกระพือความโกรธขึ้นอีกในจิตใจได้ในโอกาสต่อไป

ผู้อบรมจิตให้คุ้นเคยอยู่เสมอกับการให้อภัย แม้จะไม่ได้รับการขอขมา ก็ย่อมอภัยให้ได้ ในทางตรงกันข้าม ผู้ไม่เคยอบรมจิตใจให้คุ้นเคยกับการให้อภัยเลย โกรธแล้วก็ให้หายเอง แม้ได้รับการขอขมาโทษ ก็อาจจะไม่อภัยให้ได้ เป็นเรื่องของการไม่ฝึกใจให้เคยชิน

อันใจนั้นฝึกได้ ไม่ใช่ฝึกไม่ได้ ฝึกอย่างไดก็จะเป็นอย่างนั้น ฝึกให้ดีก็จะดี ฝึกให้ร้ายก็จะร้าย... 


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2554

วันพระ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

ทางเจริญ

     วันพระถือเป็นวันสำคัญที่เราทุกท่านได้มาร่วมกันปฏิบัติในทางแห่งบุญคือ ร่วมกันให้ทาน รักษาศีล แผ่เมตตา ท่านว่าบุญที่เกิดจากกระทำทั้งสามเป็นสิ่งที่ประเสริฐ หากท่านทำสิ่งทั้งสามนี้เป็นประจำ จะไปที่ไหน ก็จะมีแต่สิ่งดีงามเข้ามาหาตัวเรา จะอยู่กับใคร ก็จะเป็นที่รักที่ชอบของผู้คน รวมทั้งจะทำอะไร ก็จะสำเร็จทุกประการ

วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554

สวัสดีปีใหม่ 2554

             ขอนำความเจริญสุขสวัสดิ์จงมีแก่ทุกท่านทั่วโลก ปีใหม่แล้วทุกย่างก็เริ่มก้าวเข้าสู่สิ่งใหม่ ๆ หลายท่านหลายคนคงจะเริ่มตั้งใจทำอะไรหลายอย่างแล้ว บางท่านก็อาจยังไม่เริ่มคิดจะทำอะไร อย่างไรก็ขอให้เริ่มซะ เพราะ เวลามันไม่เคยคอยใคร ดังนั้นปีใหม่ปีนี้อยากให้ทุกท่านมีแต่สิ่งดี ๆ อย่าทำปีใหม่ให้กลายเป็นปีเมา เพราะอาจจะทำให้เราจะอับจนได้

                                                                               พระเอกพันธ์ อินฺทสาโร