วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

บ ๕ ดี

บริเวณ  ตรวจที่อยู่อาศัย
บริวาร   ตรวจดูลูกน้อง
บริขาร   ตรวจดูสิ่งของ
บริการ   ต้อนรับผู้มาเยี่ยม
บริกรรม ทำกิจวัตรดี

เทศน์งานฌาปนกิจ คุณแม่บุญทิตย์ สุวรรณสิงห์ 26 กุมภาพันธ์ 2554 ณ เมรุวัดวิเวกธรรมคุณ

ยังกิญจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมนฺติ

            ขอเจริญพรญาติโยมสาธุชนพุทธบริษัททุกท่าน ณ โอกาสต่อจากนี้ไปพอประมาณ ญาติโยมสาธุชนจะได้รับฟังธรรมสังเวช ปรารภเหตุของการวายชน เนื่องจากว่าในวันนี้ ท่านเจ้าภาพ พร้อมด้วยบุตรธิดาและลูกหลาน ตลอดจนญาติสนิทมิตรสหาย ได้มาร่วมกันฌาปนกิจ เพื่ออุทิศคุณงามความดีอันนี้ส่งไปให้แก่ดวงวิญญาณ( ชื่อผู้วายชน) การจากไปของคุณแม่ในครั้งนี้ก็ได้สร้างความเศร้าโศกเสียใจท่านเจ้าภาพและลูกหลานที่อยู่เบื้องหลัง เพราะการจากไปของคุณแม่ในครั้งนี้ เป็นการจากไปอย่างที่ไม่มีวันที่จะหวนกลับ
            มีนักปราชญ์ท่านเคยกล่าวเอาไว้ว่า คนเราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ เราหนีไม่พ้นความแก่ ความเจ็บ และความตาย ซึ่งเป็นสัจจธรรมที่แท้จริงของชีวิต ดังมีคำกลอนบทหนึ่งที่ท่านกล่าวเอาไว้ว่า
อนิจจา วัตตสังขารา
คนเราเกิดมา นั้นไม่เที่ยงแท้
คืนวันผันผ่าน เวียนผันเปลี่ยนแปร
สุดท้ายแน่ ๆ ต้องสิ้นลมปราณ
            ดังนั้นเราจะเกิดเป็นหญิง เป็นชาย เป็นคนรวย เป็นคนจน หรือจะเป็นคนชาติไหน ๆ สุดท้ายเราก็ไม่อาจหนีจากเงื้อมือของพญามัจจุราชไปได้พ้น
            แต่อย่างไรก็ดีเมื่อพูดถึงผู้วายชน คือคุณแม่(ฯญ) ที่ท่านจากพวกเราไปในวันนี้ อาตมาถือว่าท่านเป็นแม่ที่แท้จริง คือเป็นแม่ที่แท้จริงอยู่ 2 แบบ
1.                                     ท่านเป็นแม่ที่ดีของพระ กล่าวคือ คุณแม่ครั้นเมื่อท่านมีชีวิตอยู่ ท่านจะชอบมาช่วยเหลือวัดตลอด ไม่ว่าจะกิจการงานใด ที่เกี่ยวกับวัดกับวาโดยเฉพาะวัดวิเวกธรรมคุณแล้ว ท่านจะมาช่วยไม่เขยขาด และที่สำคัญคุณแม่มักจะเป็นเจ้าภาพอุปสมบทพระอยู่เสมอ เมื่อมีโอกาสท่านกับคุณพ่อก็จะขอปวารณาเป็นเจ้าภาพ ดังนั้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็มีพระอยู่หลายรูปที่ท่านได้ยกบวชบวชให้ แต่ในวันนี้คงไม่ได้เห็นคุณแม่มาร่วมทำกิจกรรม มาร่วมทำบุญที่วัดเหมือนในอดีตอีกแล้ว คงเหลือเพียงแต่ความทรงจำ และคุณความดีทั้งหลายที่คุณแม่ได้สร้างเอาไว้ เป็นเป็นเครื่องเตือนใจให้กับลูกหลานที่เป็นพระภิกษุสามเณรที่อยู่รุ่นหลัง ดังนั้นท่านจึงเป็นแม่ที่ดีของพระเช่นนี้
2.                  ท่านเป็นแม่ที่ไม่ละหน้าที่ต่อลูก คือท่านเป็นแม่ที่ดีของลูกเลี้ยงลูกให้ได้ดับได้ดี ท่านเลี้ยงลูกให้มีการศึกษา เลี้ยงลูกให้อยู่ดีกินดีทุกคน ดังนั้นกว่าที่เราจะมีวันนี้ได้ ก็เพราะใคร เพราะคุณแม่ใช่หรือไม่ ที่ท่านต้องสู้กับความทุกข์ยาก เพื่อที่จะให้ลูกได้อิ่ม เพราะคุณแม่ใช่หรือไม่ ที่ท่านต้องสู้กับความลำบาก เพื่อที่จะให้ลูกได้หลับ เพราะคุณแม่ใช่หรือไม่ ที่ท่านต้องสู้กับอุปสรรค เพื่อให้ลูกได้อยู่สบาย น้ำนมทุกหยดที่แม่ให้ดื่ม ข้าวทุกคำที่แม่ป้อน ทุกคำสอนของท่าน ล้วนมาจากความรักของคุณแม่ที่มีต่อลูกทุกคน
อันรักใดไหนอื่นมีหมื่นแสน 
ไม่เหมือนแม้นแม่รักสมัครหมาย 
รักของแม่คงมั่นตราบวันตาย 
หญิงหรือชายรักเจ้าเท่าดวงมาลย์ 
ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่กรองกลั่น 
เลือดแม่นั้นเลี้ยงหล่อก่อสังขาร 
กว่าจะเป็นตัวตนต้องทนทาน 
ครั้นถึงกาลคลอดเจ้าร้าวระบม 
แม่เจ็บปวดเวียนว่ายชีวาสิ้น 
หรือถวิลคิดใดให้ขื่นขม 
หวังเพียงลูกปลอดภัยได้ชื่นชม 
ก็สุขสมใจแม่อย่างแท้จริง 
ตั้งแต่น้อยจนใหญ่ใครกันเล่า 
ที่ป้อนข้าวป้อนน้ำทำทุกสิ่ง 
จะหนักเบาเจ้าถ่ายไม่ประวิง 
ไม่ทอดทิ้งกอดกกยามตกใจ 
ขวัญเอ๋ยขวัญมาอยู่มาสู่เจ้า 
แม่คอยเฝ้าชูช่วยยามป่วยไข้ 
ยามลูกนอนสายเปลแม่เห่ไกว 
แม้นริ้นไรจะขบกัดแม่พัดวี 
แม่ยอมอดให้ลูกอิ่มก็ยิ้มชื่น 
ทุกวันคืนหวังให้ลูกอยู่สุขศรี 
พระคุณแม่ยิ่งกว่าฟ้าปฐพี 
ชีวิตนี้เกิดมาควรแทนคุณ

วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วันมาฆบูชา


วันมาฆะบูชา

 article

ความหมาย
วันมาฆบูชาหมายถึง การบูชา ในวันเพ็ญเดือน ๓ เนื่องในโอกาสคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์
ความสำคัญ
วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ มีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูปมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกันพระสงฆ์ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา ๖และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า ในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการอุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติที่ นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหา โดยสรุปคือให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี ให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่องใส
ประวัติความเป็นมา
๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๙ เดือนขณะนั้นเมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะหรือเดือน ๓ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า มาประชุม พร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ คือ
๑. วันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓
๒. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้ นัดหมาย
๓. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖
๔. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นผู้ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจาก พระพุทธเจ้าเพราะเหตุที่มีองค์ประกอบสำคัญดังกล่าว จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต และในโอกาสนี้พระพุทธเจ้า ได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการประกาศหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติทางพระพุทธ-ศาสนา
๒. การถือปฏิบัติวันมาฆบูชาในประเทศไทยพิธีวันมาฆบูชานี้ เดิมทีเดียวในประเทศไทยไม่เคยทำมาก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ว่าเกิดขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยทรงถือตามแบบของโบราณบัณฑิตที่ได้นิยมกันว่า วันมาฆะบูรณมี พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์เป็นวันที่พระอรหันต์สาวกของ พระพุทธเจ้า ๑,๒๕๐ รูป ได้ประชุมกันพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาตพระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เป็นการประชุมใหญ่ และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์จึงถือเอาเหตุนั้นประกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวก ๑,๒๕๐ รูปนั้น ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสการประกอบพิธีมาฆะบูชา ได้เริ่มในพระบรมมหาราชวังก่อนในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีพิธีการพระราชกุศลในเวลาเช้า พระสงฆ์ วัดบวรนิเวศวิหารและวัดราชประดิษฐ์ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำ เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่อง มนัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว สวดมนต์ต่อไปมี สวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนา โอวาทปาติโมกข์ ๑ กัณฑ์เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย เครื่องกัณฑ์ มีจีวรเนื้อดี ๑ ผืน เงิน ๓ ตำลึง และขนมต่าง ๆ เทศนาจบพระสงฆ์ ซึ่งสวดมนต์ ๓๐ รูป สวดรับการประกอบพระราชกุศลเกี่ยวกับวันมาฆบูชาในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีด้วยพระองค์เองทุกปีมิได้ขาด สมัยต่อมามีการเว้นบ้าง เช่น รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกเองบ้าง มิได้ เสด็จออกเองบ้างเพราะมักเป็นเวลาที่ประสบกับเวลาเสด็จประพาส หัวเมืองบ่อย ๆ หากถูกคราวเสด็จไปประพาสบางปะอินหรือพระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็จะทรงประกอบพิธีมาฆบูชา ในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีก ส่วนหนึ่งต่างหากจากในพระบรมมหาราชวังเดิมทีมีการประกอบพิธีในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาก็ขยายออกไป ให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติตามอย่างเป็นระบบสืบมาจนปัจจุบันมีการบูชา ด้วยการเวียนเทียน และบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ส่วนกำหนดวันประกอบพิธีมาฆบูชานั้น ปกติตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ หากปีใดเป็นอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหนจะเลื่อนไปตรงกับวันเพ็ญเดือน ๔ หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติหลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติได้แก่ โอวาทปาติโมกข์ หมายถึงหลักคำสอนคำสำคัญของพระพุทธศาสนาอันเป็นไปเพื่อป้องกัน และแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น หรือคำสอน อันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ วิธีการ ๖ ดังนี้ หลักการ ๓
๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่การงดเว้น การลดละเลิก ทำบาปทั้งปวง ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางแห่งความชั่ว มีสิบประการ อันเป็นความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจความชั่วทางกาย ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติ ผิดในกามความชั่วทางวาจา ได้แก่ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียดการพูดเพ้อเจ้อ ความชั่วทางใจ ได้แก่ การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม
๒. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่างซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นแบบของการทำฝ่ายดีมี ๑๐ อย่าง อันเป็นความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจความดีทางกาย ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นมีแต่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการไม่ประพฤติผิดในกามการทำความดีทางวาจา ได้แก่ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อพูดแต่คำจริง พูดคำอ่อนหวานพูดคำให้เกิดความสามัคคีและพูดถูกกาลเทศะการทำความดีทางใจ ได้แก่ การไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่นมีแต่คิดเสียสละการไม่ผูกอาฆาตพยาบาทมีแต่คิดเมตตาและปรารถนาดีและมีความเห็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
๓. การทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึง
ความสงบ มี ๕ ประการ ได้แก่
๑. ความพอใจในกาม (กามฉันทะ)
๒. ความอาฆาตพยาบาท (พยาบาท)
๓. ความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน (ถีนะมิทธะ)
๔. ความฟุ้งซ่าน รำคาญ (อุทธัจจะกุกกุจจะ) และ
๕. ความลังเลสงสัย (วิกิจฉา) เช่น สงสัยในการทำความดีความชั่ว ว่ามีผลจริงหรือไม่
วิธีการทำจิตให้ผ่องใส ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการละบาปทั้งปวงด้วยการถือศืลและบำเพ็ญกุศล ให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา จนได้บรรลุอรหัตผล อันเป็นความผ่องใสที่แท้จริงอุดมการณ์ ๔
๑. ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา ใจ
๒. ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้าย รบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
๓. ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
๔. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด
ในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จาการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ ๘
วิธีการ ๖
๑. ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร
๒. ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
๓. สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎกติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม
๔. รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหารหรือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
๕. อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
๖. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ ฝึกหัดชำระจิตให้สงบมีสุขภาพคุณภาพ และประสิทธิภาพที่ดี
ข้อมูลจาก  : หนังสือวันสำคัญโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยฯ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ