วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เทศน์งานศพวันที่ 4 ธันวาคม 2553

ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ



ภูเขาสูง ตระหง่าน เงื่อมเทียมเมฆ


เป็นก้อนเอก กลิ้งปิด ทิศทั้งสี่


ไม่มีใคร หลีกได้ ในปฐพี


ทุกชีวี เหลวแหลก แตกกระจาย


ฉันเดียวกัน กับความตาย ฆร่าชีวิต


หนีสุดฤทธิ์ หาพ้นได้ ดังใจหมาย


ทุกชีวิต เมื่อถึงคราว ก็ต้องตาย


เหลือเอาไว้ ดีชั่ว ที่ตัวทำ


ขอเจริญพรญาติโยมสาธุชนพุทธบริษัททุกท่าน ณ โอกาสต่อจากนี้ไปพอประมาณ ญาติโยมก็จะได้รับฟังธรรมสังเวช ปรารภเหตุของการวายชน เนื่องจากว่าในวันนี้ ท่านเจ้าภาพ ลูกหลาน ญาติสนิทมิตรสหายตลอดจนพุทธศาสนิกชนทุกท่านได้มาร่วมกันฌาปณกิจ เพื่ออุทิศคุณงามความดีอันนี้ส่งไปให้แก่ดวงวิญญาณของคุณ.........ที่จากพวกเราไป การจากไปของท่านในครั้งนี้ก็ได้สร้างความเศร้าโศกเสียใจ ทิ้งความอาลัยแก่ลูกหลานผู้ที่อยู่เบื้องหลัง เพราะการจากไปของคุณแม่ในครั้งนี้ เป็นการจากไปแบบไม่มีกลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น ท่านว่าคนเราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้หนีไม่พ้นหลักความเป็นจริงอยู่ 3 อย่าง นั้นก็คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


อนิจจัง คือความไม่เที่ยง หมายความว่า คนเราเกิดมาประกอบด้วยธาตุทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ รวมกันเป็นสังขาร เมื่อเปลี่ยนแปลงไปตามกาลตามเวลาหรือตามอายุไขสังขารร่างกายของคนเราก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เปลี่ยนแปลงในที่นี้คือ เปลี่ยนจากวัยเด็กไปเป็นวัยหนุ่มสาว เปลี่ยนจากวัยหนุ่มสาวไปเป็นวัยผู้ใหญ่เปลี่ยนจากวัยผู้ใหญ่ไปเป็นวัยชรา ดังมีปริศนาธรรมข้อหนึ่งที่ท่านได้ยกเอาไว้ให้น่าคิดว่า


ที่ดำกลับขาว ที่ยาวกลับสั้น ที่มั่นกลับคลอน ที่หย่อนกลับตึง ที่ซึ้งกลับเซอะ ซึ่งก็อธิบายได้ว่า ที่ดำ กลับขาว หมายถึง เส้นผม ตั้งแต่เด็ก จนถึงวัยหนุ่มสาว เส้นผมก็ดกดำสวยงาม พอผ่านวัยผู้ใหญ่เข้าสู่วัยชรา เส้นผมก็กลับเปลี่ยนไปเป็นขาว บางคนจะใช้สีย้อมผมยี่ห้อดีขนาดไหนมาย้อมมันก็ตาม มันก็คงทนได้แค่ชั่วคราว แต่เมื่อมันหมดฤทธิ์ของยานั้น มันก็กลับมาดังเดิม ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรมันได้


ที่ยาว กลับสั้น หมายถึง สายตา ตอนอยู่ในวัยเด็ก วัยหนุ่มสาว โดยทั่วไป จะมีนัยตาแจ่มใส ที่ไหน มุมไหน ท่าไหน ก็อ่านหนังสือได้ มองดูอะไรก็ได้ เห็นภาพชัดเจนดี พอเข้าสู่วัยชรา สายตากลับพร่ามัว ต้องอาศัยแว่นตาเข้าช่วย


ที่มั่น กลับคลอน หมายถึง ฟัน ตอนอยู่ในวัยเด็ก วัยหนุ่มสาวจะกัด จะเคี้ยวอาหารอะไรก็ได้ ไม่เกรงกลัว กินอาหารได้อร่อย พอเข้าสู่วัยชรา ฟันบางซี่ก็เริ่มโยกดลอน จนหลุดออกทีละซี่ อย่างนี้ก็กินไม่ได้ อย่างโน้นก็กินไม่ลง


ที่หย่อน กลับตึง หมายถึง หู ตอนอยู่ในวัยเด็ก วัยหนุ่มสาว จะฟังเสียงอะไรก็ได้ยิน ไม่ว่าจะอยูใกล้หรือไกล พอเข้าสู่วัยชรา เนื้อหนังก็หย่อนยานไปหมด เว้นแต่หู ยิ่งแก่ยิ่งตึง


ที่ซึ้ง กลับเซอะ หมายถึง ความจำ ตอนอยู่ในวัยเด็ก เรียนรู้อะไรก็จดจำได้เร็วและแม่นยำ พอเข้าสู่วัยชรา ก็หลงๆลืมๆ ความจำเลอะเลือน ได้หน้าลืมหลัง


นี้คือความเป็นจริงของสังขาร ที่มันเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงไม่แท้เพราะยามหนุ่มยามสาวมันก็สามารถทำอะไรได้ขึงขัง กระฉับกระเฉงแต่เมื่อแก่เฒ่าลงจะทำอะไรมันก็ลำบาก แม้จะลุกจะนั่งก็ยังต้องร้องโอยแล้วโอยอีก เหมือนกับคำกลอนที่ท่านได้กล่าวเอาไว้ว่า


ยามวัยต้น แข็งแรง ทุกส่วนสัด


ปรากฏชัด ทุกอย่าง ล้วนขึงขัง


ผ่านวัยกลาง ทุกอย่างลด หมดกำลัง


จะลุกนั่ง ไปมา ร้องว่าโอย


ทุกขัง คือความทุกข์ หรือสภาวะที่ทนได้ยาก เหตุที่บอกว่าเป็นสภาวะที่ทนได้ยากก็เพราะว่า เมื่อพูดถึงเรื่องความทุกข์ ไม่มีใครอยากจะเข้าใกล้ เพราะความทุกข์มันทำให้เราเจ็บปวด ความทุกข์มันทำให้เราเศร้าตรอม แต่ความทุกข์ก็เป็นยาวิเศษที่ทำให้คนเข้มแข็ง เพราะว่าบางคนกว่าจะได้สบาย เค้าเหล่านั้นก็สู้กับความทุกข์ยากมาก่อนทั้งสิ้น ยกตัวอย่างคุณพ่อคุณแม่ของเรา กว่าพวกท่านจะเลี้ยงดูเราเติบใหญ่ให้มีการมีงาน มีครอบมีครัวอยู่อย่างมีความสุขอย่างทุกวันนี้ ท่านก็ต้องทนและสู้กับความทุกข์ยากอุปสรรคต่าง ๆ นานามาทั้งสิ้น โดยเฉพาะคุณแม่แล้ว ท่านถือว่าเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ ท่านให้เราเกิด ก่อนที่ท่านจะคลอด ท่านก็ต้องทนอุ่มท้อง ยากกินอะไรที่ชอบก็ไม่ได้กิน กลัวว่าจะกระทบลูกในท้องของตน แม้เมื่อท่านคลอดแล้ว ท่านก็ต้องยอมตัดสายสะดือของตัวเองที่ติดกับลูก เพื่อให้ลูกมีชีวิตรอด หลังจากนั้นท่านก็เลี้ยงเรามา โดยที่ท่านเป็นครูคนแรก สอนให้เราเดิน สอนเรียกชื่อท่านและชื่อที่พูดออกมาจากคำพูดที่ไร้เดียงสาของเรานั้นก็คือ “แม่” แม่สอนให้เราได้รู้ทุกอย่าง สอนให้เราสู้ ถึงแม้ว่าบางครั้งลูกจะท้อแท้หมดหวัง ท่านก็ยังให้กำลังใจ ไม่ทอดทิ้งเรา ดังนั้นพระคุณของแม่จึงมากมายมหาศาล แม้แต่ในชาติเราก็ไม่สามารถที่จะทดแทนพระคุณท่านได้ทั้งหมด ดังนั้นสิ่งเราควรจะทำคือรู้จักสำนึก นึกถึงเรื่องที่ท่านเคยเล่า นึกถึงนมน้ำข้าวที่ท่านเคยป้อน นึกถึงที่หลับที่นอนที่ท่านเคยจัดหาให้ แม้แต่เงินทุนทุกบาททุกสตางค์ที่ท่านให้เราโดยไม่คิดหวังผลตอบแทน เพียงแต่ท่านหวังว่าอยากให้ลูกมีความสุข แม้ยามแก่เฒ่า ก็หวังเพียงลูกเจ้าเฝ้ารับใช้ ยามป่วยไข้ ก็หวังเพียงลูกเต้าพาไปรักษา เมื่อถึงคราวตายวายชีวา ก็หวังเพียงลูกยาคอยปิดตายามที่สิ้นใจ นี้คือความหวังของแม่






อนัตตา คือ ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของเรา เราทุกคนทุกท่านเกิดมา เรามาตัวเปล่า ทรัพย์สินเงินทอง บ้านช่องเคหะสถานที่เราหามาได้ เราก็ได้กินได้ใช้ตอนที่เรามีชีวิตอยู่ เมื่อตายก็ได้นอนในแค่โลงสี่เหลี่ยม แม้เงินบาทที่เขาเอาใส่ปาก เราก็ยังไม่สามารถที่จะนำติดตัวไปได้ ดังมีคำกลอนที่ท่านได้กล่าวเอาไว้ว่า


โลกีย์สมบัติจำต้องขาดกระจาย


เมื่อตัวเราตายจำต้องคืนทุกอย่าง


ลาภยศเงินทองมันเป็นของกลางกลาง


ไม่มีอะไรสักอย่างจะติดกายา


มาเปล่าไปเปล่าเราท่านอย่าเฝ้าอาลัย


เงินทองเอาไปไม่ได้หรอกนะท่านจ๋า


หัดปลงหัดวางเสียในสังขารา


ทรัพย์สินที่เคยค้าก็จำต้องเวียนคืน


เงินบาทสุดท้ายที่เขาเอาใส่ปาก


สัปเหร่อก็ยังควักไม่ยอมให้เรากลืน


โธ่คิดมาแล้วมันน่าขมขื่นเหลือผ้าสองผืนพอติดกายา


แต่พอคนเผลอสัปเหร่อก็เข้ามาแก้


เอาผ้าม่วงผ้าแพรไปเที่ยวเร่ขาย


ต้องแต่งชุดเดียวกันทั้งวันเกิดวันตาย


ต้องมานอนเปลือยกายอยู่บนเชิงตระกอน

6 ความคิดเห็น: